วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 – 12.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี นายศิริพงษ์ ศรีอาค๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมืออาเซียน กองการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสาวมาติกา เติมผาติ นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ ในฐานะผู้ประสานงานหลักความร่วมอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของประเทศไทย (SOMSWD Focal Point of Thailand) เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ประกอบการอาเซียน ครั้งที่ 4 (4th Meeting for the Network of Experts on Inclusive Entrepreneurship for ASEAN) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)
การประชุม NIEA ครั้งที่ 4 มีระเบียบวาระสำคัญ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของกลุ่มเป้าหมาย
ในโอกาสนี้ นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย ผู้แทนประเทศไทยในการลงสมัครเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 1 วาระปี 2564 – 2567 ได้กล่าวสรุปผล ต่อที่ประชุมในนามประเทศไทย ซึ่งรับหน้าที่เป็นประเทศเจ้าภาพการขับเคลื่อนเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญฯ ดังกล่าว เป็นประเทศแรก ในระหว่างปี ค.ศ. 2560-2562 นอกจากนี้ นางสาวเสาวลักษณ์ฯ ยังได้นำเสนอรายงานของประเทศไทย เน้นย้ำความคืบหน้าและความสำเร็จของประเทศไทยในการผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 (Social Enterprise Promotion ACT B.E.2562) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของคนพิการ รวมทั้ง นำเสนอกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีของเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมการเป็นเจ้าของกิจการของคนพิการ
ทั้งนี้ การประชุมออนไลน์ดังกล่าว จัดโดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญฯ ดังกล่าว ต่อจากประเทศไทย เป็นเวลา 2 ปี (2563-2564) มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย SOMSWD Focal Points สมาชิกเครือข่ายฯ จากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนสภาอาเซียนเพื่อคนพิการ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UNDP UNESCAP JICA สำหรับผู้แทนฝ่ายไทย นำโดยนางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมทั้ง สมาชิกเครือข่ายฯ ของประเทศไทย ผู้แทนจากภาคธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ทรู คอเปอร์เรชัน จำกัด มหาชน ผู้แทนองค์กรของพิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมกว่า 25 หน่วยงาน