การประชุมประสานงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๑๖ (Sixteenth Coordinating Conference on the ASEAN Socio-Cultural Community: 16th SOCCOM) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ศปก. ชั้น ๒ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นางจตุพร โรจนพานิช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของประเทศไทย (SOCA Leader of Thailand) พร้อมด้วยนายอรรคพงษ์ ศรีสุบัติ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นางสาววิมลรัตน์ รัชชุกูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กองการต่างประเทศ และผู้แทนจากกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมการประชุมประสานงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๑๖ (Sixteenth Coordinating Conference on the ASEAN Socio-Cultural Community: 16th SOCCOM) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในปี ๒๕๖๔ โดยสำนักเลขาธิการอาเซียน และประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการประชุม

สำหรับการประชุม 16th SOCCOM ในภาคเช้า ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่การฟื้นตัวและความเข้มแข็งภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาเซียน” (Towards Post-COVID Recovery and Resilience in ASEAN) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นเวทีสำหรับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาต่าง ๆ อภิปรายเกี่ยวกับการผลักดันข้อริเริ่มสำคัญตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) ไปสู่การปฏิบัติ โดยผู้ช่วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเสนอและร่วมอภิปราย ในหัวข้อ “การสนับสนุนการฟื้นตัวและความเข้มแข็งภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาเซียน” (Promoting Post-COVID Recovery and Resilience in ASEAN) ในนามรองประธานสาขาสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD) สาระสำคัญเกี่ยวกับการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการสร้างภูมิคุ้มกันในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือในระดับปฏิบัติการและด้านวิชาการ ซึ่งจะมีการเสนอกิจกรรมหรือแผนงานสำคัญของแต่ละสาขา รวมถึงกำหนดหน่วยงานสาขาระดับรัฐมนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือแผนงานสำคัญดังกล่าว

ในภาคบ่าย เป็นการเปิดตัวรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาของอาเซียน (The ASEAN Development Outlook: ADO) ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกในอาเซียน โดยความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนและคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงข้อท้าทายสำคัญในอาเซียน แนวปฏิบัติที่ดี และวิเคราะห์ถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวนโยบายในอนาคต เนื้อหาใน ADO มี ๔ หัวข้อหลักที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ อัตลักษณ์ (Identity) สภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น (Natural and Built Environment) ความเป็นอยู่ (Livelihood) และสวัสดิการสังคมและสุขภาพ (Social Welfare and Health) ผ่านตัวแปรขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ๔ ประการ ได้แก่ ข้อมูลประชากรพื้นฐาน (Demographic) การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน (Migration) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (the Fourth Industrial Revolution: 4IR)

โดยในช่วงท้ายเป็นการประชุมหุ้นส่วนความร่วมมือประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 1 (First ASCC Partnership Conference) วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อนำเสนอแผนงานสำคัญเกี่ยวกับการฟื้นฟูและการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยประธานหรือรองประธานองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน จะได้นำเสนอแผนงานที่เกี่ยวข้อง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประเทศคู่เจรจา

Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial