วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 08.45 – 12.30 น. นางจตุพร โรจนพานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของประเทศไทย (SOCA Leader of Thailand) และในฐานะรองประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD Vice Chair) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมภาคีหุ้นส่วนว่าด้วยความก้าวหน้าในการดำเนินการของอาเซียนเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน โดยเฉพาะการฟื้นฟูหลังเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ (the Partnership Conference on Advancing the Implementation of ASEAN Culture of Prevention Focusing on Post Pandemic Recovery) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และการกีฬา เนการาบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2564
การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Senior Officials Committee for the ASEAN Socio-Cultural Community: SOCA) คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน รวมถึงประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ภาคีหุ้นส่วน องค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานจากภาคประชาสังคม รวมจำนวนประมาณ 130 คน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของอาเซียนเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะการฟื้นฟูหลังการเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ภาคีหุ้นส่วน องค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานจากภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และช่วยพัฒนาการดำเนินงานของอาเซียนเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกันให้มีความครอบคลุม ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ นางจตุพร โรจนพานิช ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยเน้นย้ำว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ การจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นประเด็นที่สำคัญที่มีการระบุถึงในวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ซึ่งภาคประชาสังคมและภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตนี้ ทั้งนี้ นางจตุพรฯ ได้เสนอให้อาเซียนจัดตั้งเวทีและกลไกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีกลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยอาจออกแบบกลยุทธ์การสื่อสาร “COP” โดย “C” หมายถึง Communications (การสื่อสาร) “O” ได้แก่ Open Forum (การมีเวทีเปิด) และ“P”- Participation (การมีส่วนร่วม) นอกจากนี้ นางจตุพรฯ ยังกล่าวถึงข้อริเริ่มของประเทศไทยเกี่ยวกับรางวัลด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาดีเด่นแห่งอาเซียน (AOSWADA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้การยอมรับและเชิดชูผลงานความสำเร็จ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรภาคเอกชน ด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาในเวทีระดับอาเซียน ทั้งนี้ จะมีการมอบรางวัลดังกล่าวในระหว่างการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 17 (17th SOMSWD) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในเดือนธันวาคม ศกนี้