วันอังคารที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 – 15.30 น. คณะผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) ได้แก่ นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กใน ACWC และนางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีใน ACWC พร้อมด้วยนางสาววิมลรัตน์ รัชชุกูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ผู้แทนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และเจ้าหน้าที่กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ครั้งที่ 23 (23rd ACWC Meeting) และการประชุมปรึกษาหารือร่วมระหว่าง ACWC กับคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 8 (8th ACWC-ACW Consultation Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (video conference) เพื่อปรึกษาหารือและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กลไก ACWC ตลอดจนการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่าง ACWC และ ACW เกี่ยวกับการบูรณาการประเด็นด้านเพศสภาพ ความเสมอภาคทางเพศและการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และการปฏิบัติตามวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน ตามลำดับ
ในการนี้ นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กใน ACWC ได้นำเสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน (Regional Plan of Action for the Protection of Children from All Forms of Online Exploitation and Abuse in ASEAN: RPA on COEA) และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการอนุวัติการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน (Regional Plan of Action on Implementing the ASEAN Declaration on the Rights of Children in the Context of Migration: RPA on CCM) ซึ่งแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคทั้ง 2 ฉบับ เป็นเอกสารที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม และจะมีการเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2564 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม นอกจากนี้ นางสาวรัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีใน ACWC ได้นำเสนอผลลัพธ์ของการประเมินผลครึ่งแผนของแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (ASEAN Regional Plan of Action on the Elimination of Violence against Women: ASEAN RPA on EVAW) ซึ่งจากการประเมินครึ่งแผนดังกล่าวพบว่ามีความก้าวหน้าที่สำคัญในหลายด้าน อาทิ ได้มีการจัดพิมพ์คู่มือคู่มือการเก็บข้อมูลในระดับภูมิภาคและจัดทำคำแปลเป็นภาษาทางการของประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 3 ประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการรณรงค์เกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและการต่อต้านการค้ามนุษย์สำหรับคนงานสตรีข้ามชาติ
สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ครั้งที่ 24 ซึ่งจะจัดโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ส่วนการประชุมปรึกษาหารือร่วมระหว่าง ACWC กับคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 9 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประเทศเจ้าภาพ จะแจ้งกำหนดการประชุมที่แน่นอนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบในโอกาสแรก